ความรู้จาก "กรมโรงงานอุตสาหกรรม" ในฉบับนี้ เราจะมากล่าวกันถึงในเรื่องของ "วิธีการทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัย" ด้วยการแนะนำวิธีการปฏิบัติงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ หลาย ๆ รูปแบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติงานภายในโรงงาน จากข้อมูลที่มีประโยชน์ของทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ท่านผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้นำมาปฏิบัติกันได้อย่างจริงจัง รวมถึงเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดอันตรายในระหว่างการปฏิบัติงานลงได้ และเป็นการช่วยรักษาทรัพย์สินของผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นการรักษาทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าทั้งทางตรง และทางอ้อม
แต่ก่อนอื่นเราควรมาทำความรู้จักกับความหมายของคำต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงภายในเนื้อหาของบทความนี้ ตาม พ.ร.บ. กฎกระทรวง โดยเริ่มจากคำว่า .....
การทำงาน ในที่นี้หมายถึง การทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรม หรือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องมี เครื่องจักร เครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ จากคำนิยามใน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ควรทราบมีดังนี้
คำว่า "โรงงาน" หมายถึง อาคาร, สถานที่, ยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักร โดยมีกำลังตั้งแต่ 5 แรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป, การใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่นั้น สำหรับทำการผลิต, การประกอบ, การบรรจุ, การซ่อม, การซ่อมบำรุง, การทดสอบ, การปรับปรุง, การแปรสภาพ, การลำเลียง, การเก็บรักษา และแม้กระทั่ง การทำลายสิ่งใด ๆ นั้นก็ตามที ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภท หรือชนิดของโรงงานที่ได้กำหนดขึ้นในกฎกระทรวง
คำว่า "เครื่องจักร" หมายถึง สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ หลาย ๆ ชิ้น และใช้สำหรับการก่อกำเนิดพลังงาน, การเปลี่ยน, การแปลงสภาพพลังงาน หรือการส่งพลังงาน ทั้งนี้ด้วยกำลังของน้ำ, ไอน้ำ, ลม, ก๊าซ, ไฟฟ้า และพลังงานอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย ๆ อย่างรวมกัน และนั่นก็หมายความถึง สายพาน, เพลา, เกียร์, และสิ่งอื่น ๆ ที่ทำงานตอบสนองกัน
คำว่า "คนงาน" หมายถึง ผู้ที่ทำงานภายในโรงงาน ทั้งนี้ไม่รวมถึงผู้ที่ทำงานฝ่ายธุรการ (ฝ่ายสำนักงาน)
และคำว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายถึง ผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติโรงงาน
การที่เราจะทำงานในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในภาคเกษตรกรรม หรือภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องสัมผัสกับสภาวะอันตราย ซึ่งเราสามารถป้องกัน และทุเลาอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นได้ หากเราได้หันมาทำความเข้าใจถึงอันตรายนั้น ๆ เสียก่อน โดยการเรียนรู้ถึงอันตรายต่าง ๆ ด้วยการจัดแบ่งอันตรายออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ คือ
1. ด้านฟิสิกส์ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ ความดังของเสียงที่ดังเกินไปจากความดังเสียง, ความสั่นสะเทือน, อุณหภูมิ หรือรังสีของการสัมผัสเกินขนาด เหล่านี้เป็นต้น ที่จะสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเครียด และจะมีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
2. ด้านเคมี ในปัจจุบันกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการใช้สารเคมีกันมากขึ้น ดังนั้นการใช้งานทางด้านสารเคมี จึงมีความจำเป็นจะต้องมีระบบการระบายอากาศที่ดี หรือตัวผู้ปฎิบัติงานจะต้องใช้อุปกรณ์ในการป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Device = PPD) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับงานทางด้านสารเคมีแต่ละชนิด
3. ด้านชีววิทยา เป็นงานที่จะต้องเกี่ยวข้องกับอินทรีย์ อันเนื่องมาจาก สัตว์, รา, เชื้อโรค และฝุ่นจากพืช กับการได้รับสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำ จึงทำให้เกิดโรคและเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ขึ้นได้
4. ด้านเออร์โกโนมิกส์ เป็นเรื่องของการประยุกต์เอาศาสตร์ทางด้านสรีระของมนุษย์เข้ากับด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด (สำหรับข้อ 1-4 จะไม่ขอกล่าวถึงโดยละเอียด ... ในที่นี้)
5. ด้านความปลอดภัยในการทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโดยใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับ เครื่องจักรกลต่าง ๆ อย่างเช่น ถังบรรจุก๊าซ, ถังมีความดันไฟฟ้า, ห้องเย็น, โรงน้ำแข็ง และแม้กระทั่ง หม้อไอน้ำ หรือหม้อต้ม ฯ เหล่านี้เป็นต้น
และสำหรับเครื่องจักรกลประเภท เครื่องปั้มโลหะ จัดเป็นเครื่องจักรกลที่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุดในจำนวนเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง ซึ่งนักวิศวกรและนักสถาปนิกทั้งหลาย จะต้องช่วยกันคิดออกแบบหรือคัดแปลง พื่อให้เครื่องจักรกลดังกล่าว สามารถป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการทำงานที่ปลอดภัยของงานแต่ละประเภทอย่างถ่องแท้ จึงปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ
อุบัติเหตุหนึ่งในสี่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างการทำงานล้วนเกิดจาก การเคลื่อนย้ายวัสดุ โดยมีการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบไปสู่ขบวนการผลิต, จากขบวนการผลิตไปสู่โกดังสินค้า, จากโกดังสินค้าไปสู่ลูกค้า ดังนั้น การเคลื่อนย้ายวัสดุดังกล่าว จึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ คือ การเคลื่อนย้ายด้วยมือและการเคลื่อนย้ายด้วยเครื่องจักร
1. การเคลื่อนย้ายด้วยมือ ซึ่งเราจะต้องพิจารณาจากสิ่งของวัสดุที่จะต้องทำการเคลื่อนย้ายโดยใช้มือยก และจะต้องพิจารณาถึงการใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Device = PPD) ตลอดจนความเหมาะสมของผู้ที่จะปฏิบัติงานไปด้วยพร้อม ๆ กัน อย่างในกรณีที่มีการใช้อุปกรณ์ช่วยขนย้าย เช่น พวกล้อเลื่อน, รถเข็นต่าง ๆ นั้น เราก็ควรที่จะมีข้อระวัง ดังต่อไปนี้ คือ
- การวางของ ห้ามวางเอียง และไม่ควรบรรทุกของเกินน้ำหนักรถ หรือตั้งของสูงเกินไป จนในขณะที่เข็ญรถอยู่นั้นไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้าอย่างถนัดและชัดเจน
- กรณีถ้าเป็นทางลาดลง เราควรจะเข็นรถ โดยให้ตัวรถเข็นอยู่ทางด้านหน้าของผู้เข็น ถ้ากรณีเข็นรถขึ้นทางลาด เราควรให้ผู้เข็นลากรถ โดยให้ตัวรถอยู่ทางด้านหลังของผู้เข็น
2. การเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยเครื่องจักร ซึ่งเราสามารถพิจารณาได้จากหลักการ ดังต่อไปนี้ คือ
- เครื่องจักร หรือรถต้องมีหลังคา และต้องมีอุปกรณ์ควบคุม เพื่อจำกัดขีดความสูงสุดหรือต่ำสุดของรถ
- การใช้รถให้ถูกลักษณะของงาน และถ้าเป็นรถที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง กรณีที่มีการใช้รถในที่ ๆ อับอากาศ สถานที่ ๆ นั้น ควรจะมีออกซิเจนเพียงพอแก่การหายใจ
- ผู้ขับขี่จะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รวมถึงผู้ขับขี่จะต้องได้รับการฝึกหัดให้มีการใช้รถสำหรับงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง และปลอดภัย อีกทั้งจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ขับขี่รถสำหรับงานอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น และควรมีเครื่องหมายเป็นหลักฐานที่สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนได้ว่า บุคคล ๆ นั้นได้รับมอบหมายในงานดังกล่าวโดยตรง
"ลวดสลิง" เป็นเชือกชนิดหนึ่ง ซึ่งเส้นใยทำด้วยโลหะ มีประโยชน์ในทางการก่อสร้าง, การขนส่งที่ท่าเรือ และลิฟต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือลิฟต์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
การบำรุงรักษา "ลวดสลิง"
1. ควรทำการบันทึกประวัติ อย่างเช่น ซื้อมาจากที่ไหน ? ซื้อเมื่อไร ? และสเป็คเป็นอย่างไร ? เป็นต้น
2. อย่าใช้สิ่งของที่มีน้ำหนัก วางทับลงบน "ลวดสลิง" โดยตรง เพราะจะทำให้ "ลวดสลิง" เกิดการงอและคืนตัวได้ไม่ดี
3. อย่าทำการลาก หรือ ถู "ลวดสลิง" กับของมีคม
4. ควรเก็บ "ลวดสลิง" ไว้ในที่ ๆ แห้ง และควรหลีกเลี่ยงการเก็บ "ลวดสลิง" ไว้ในที่ ๆ มีอุณหภูมิสูง เพราะจะทำให้ "ลวดสลิง" รับน้ำหนักได้น้อยลงจากเดิม
5. ควรหลีกเลี่ยง "ลวดสลิง" จาก แรงกระตุก (Shock Load)
6. เวลาใช้ "ลวดสลิง" สำหรับงานยกของที่มีของคม เราควรหาสิ่งของ เพื่อใช้รองรับที่ "ตัวของ" นั้น ๆ ด้วย
1. ควรใช้หน้ากากป้องกันแสงที่เกิดจากการเชื่อมในขณะที่ทำการเชื่อม
2. ควรสวมเสื้อผ้าอย่างมิดชิดในขณะที่ทำการเชื่อม
3. ควรสวมรองเท้านิรภัยในขณะที่ทำการเชื่อม
4. ควรสวมถุงมือในขณะที่ทำการเชื่อม
บริเวณพื้นที่ในการปฏิบัติงาน
1. บริเวณพื้นที่ในการปฏิบัติงานควรเป็นวัสดุทนไฟ และไม่มีน้ำขัง
2. ควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันแสง, รังสี และสะเก็ดไฟ
3. ไม่ควรให้มีวัสดุติดไฟอยู่ใกล้ ๆ
4. บริเวณพื้นที่ในการปฏิบัติงานควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
5. บริเวณพื้นที่ในการปฏิบัติงานควรมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ
เครื่องเชื่อมควรมีลักษณะดังนี้
1. ตัว และ อุปกรณ์เครื่องเชื่อม ควรมีมาตรฐานและมีแถบสีอย่างถูกต้อง
2. ถังก๊าซแอลพีจี, ท่อบรรจุก๊าซออกซิเจน และท่อบรรจุก๊าซอะเซทิลีน ควรมีเกจวัดความดัน
3. ถังก๊าซแอลพีจี และท่อบรรุจก๊าซ ฯ ควรมีลิ้นนิรภัย
4. วาล์วและท่อบรรจุก๊าซไม่ควรมีจาระบี
5. หัวเชื่อมก๊าซจะต้องอยู่ในสภาพที่ดีเสมอ
คำแนะนำสำหรับการใช้ท่อบรรจุก๊าซ
1. อย่าใช้ก๊าซผิดประเภท
2. อย่าใช้ก๊าซเพื่อทำความสะอาดท่อ, อุปกรณ์ที่มีน้ำมัน หรือ ไขอื่น ๆ
3. อย่าบรรจุก๊าซผิดประเภท
4. อย่าใช้น้ำมันจาระบีทาหัววาล์ว
5. อย่าใช้ก๊าซโดยไม่ผ่านเรกูเลเตอร์
6. อย่าถ่ายเทก๊าซเอง
คำแนะนำในการใช้ถังบรรจุก๊าซเหลว
1. อย่าให้ไฟ, น้ำมัน, ก๊าซไวไฟ เข้าใกล้ถังบรรจุก๊าซ
2. อย่าจับท่อทางเดินก๊าซด้วยมือเปล่า
3. อย่าให้ออกซิเจนเหลวและไนโตรเจนเหลว สัมผัสกับมือหรือร่างกายโดยตรง
การเก็บรักษาท่อบรรจุก๊าซความดันสูงและถังบรรจุก๊าซเหลว
1. ควรเก็บไว้ในที่ร่ม
2. ควรเก็บไว้ในห้องที่มีการระบายอากาศดี
3. ควรยึดท่อให้มั่นคง
4. ควรปิดวาล์วเมื่อใช้ก๊าซหมด หรือ ควรปิดวาล์วเมื่อเลิกใช้ก๊าซ
5. ควรทำการเคลื่อนย้ายด้วยรถเข็ญ
6. อย่าโยน หรือทุ่มถังก๊าซแอลพีจี หรือท่อบรรจุก๊าซ ฯ
7. ไม่ควรเก็บท่อบรรจุก๊าซออกซิเจน ร่วมกับท่อบรรจุก๊าซอะเซทิลีน
8. ไม่ควรเก็บไว้ในที่ ๆ มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส
9. ไม่ควรเก็บไว้ในที่ชื้น มีเกลือ หรือมีสารกัดกร่อน
ถังบรรจุก๊าซเหลว
1. ควรเก็บ หรือติดตั้งถัง ไว้ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทได้ดี
2. อย่านำไฟ, น้ำมัน, จาระบี และไฟฟ้าเข้าใกล้ถังบรรจุออกซิเจน
3. ควรมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมและดูแลในเฉพาะที่ ๆ นั้น
4. ถังบรรจุก๊าซเหลวบางรุ่น ห้ามวางนอน และควรมีการยึดตัวถัง เพื่อไม่ให้เกิดการล้มลงได้โดยง่าย
5. อย่าถ่ายเทก๊าซเหลวเอง
6. ควรให้พนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเป็นผู้เดินท่อเท่านั้น
การซ่อมบำรุงแบบป้องกัน เป็นระบบการซ่อมบำรุงที่ดีที่สุดคือ การได้ให้เหตุผลของงาน รวมทั้งความรับผิดชอบด้าน
การค้นคว้า, วิจัย และพัฒนา เพื่อหาทางปรับปรุงระบบการทำงานที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนดังนี้ คือ
1. ควรจัดตั้งหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบต่องานซ่อมบำรุงขึ้นโดยตรง
2. ควรมีผู้รับผิดชอบงาน ที่มีคุณลักษณะดังนี้
- ศึกษาว่าเหตุใด จึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้น ๆ
- ศึกษาหาทางเลือกที่ดีที่สุด ในการทำงาน การผลิต และงานซ่อมบำรุง
- ทดลองหาข้อสรุปในแนวทางที่คิดปรับปรุงขึ้น
- วางแผนการทำงาน ชนิดที่เร่งด่วน ปานกลาง และในอนาคต
อุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการซ่อมบำรุง
งานซ่อมบำรุง มักจะเป็นงานที่เกิดอุบัติเหตุได้บ่อย ทั้งนี้อาจเกิดจากสถานที่ ๆ ไม่เอื้ออำนวย หรือไม่มีความปลอดภัย อย่างเช่น เครื่องมืออุปกรณ์วางไม่เรียบร้อย, วัสดุไม่ได้จัดวางเป็นระเบียบ หรืออาจจะเกิดจากอุปนิสัยของช่างซ่อมบำรุงเอง และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็จะทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตลงได้ โดยจะส่งผลโดยตรงต่อโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ๆ ในด้านสวัสดิการ และผลผลิต ตลอดจนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ฉะนั้น การป้องกันอุบัติเหตุ จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งนัก
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในงานซ่อมบำรุง อันเนื่องมาจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการด้วยกันคือ สภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย และการกระทำที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจะมีรายละเอียดดังนี้
1. สภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย
1.1 เครื่องมือและเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ตลอดจนอะไหล่ต่าง ๆ ที่มีการจัดวางไม่เป็นระเบียบ
1.2 ชิ้นส่วนและอุปกรณ์หล่นทับ
1.3 การเชื่อมทำให้เกิดประกายไฟและลุกไหม้ขึ้นได้
1.4 การถอดชิ้นส่วนป้องกันอันตรายของเครื่องจักรออก
1.5 เกิดการรั่วของก๊าซเชื่อมโลหะ
1.6 การลัดวงจรไฟฟ้า
1.7 การเดินเครื่องจักรซึ่งยังมิได้ทำการตรวจเช็ค
2. การกระทำที่ไม่ปลอดภัย
2.1 การไม่ใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
2.2 การเล่นกันในบริเวณที่มีการซ่อมบำรุง
2.3 การใช้เครื่องมือผิดประเภท
2.4 การไม่สนใจหรือใส่ใจต่อคำเตือน
2.5 การไม่มีจิตสำนึกแห่งความปลอดภัย
2.6 สภาพร่างกายที่ไม่พร้อมในการทำงาน
2.7 การชอบเสี่ยงอันตราย
การป้องกันอุบัติเหตุในการซ่อมบำรุง
1. ผู้บริหารงานโรงงาน หรือเจ้าของกิจการโรงงาน ต้องยอมรับว่ามีส่วนในการทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นด้วย
2. โรงงานจะต้องมี นโยบาย, ระเบียบ, คำสั่ง และมาตรฐานในการทำงาน
3. งานการผลิตและงานซ่อมบำรุง จะต้องมีการประสานงานที่ดี
4. มีการแผนงานการซ่อมบำรุงแบบป้องกันในระยะยาว
5. ควรจัดหาบุคคล เพื่อให้เหมาะสมกับงาน " Put the Right Man to The Right Job " และควรมีหัวหน้างานคอยควบคุมดูแลงาน ๆ นั้น
1. ปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด อย่าเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยไม่รู้จริง และหากเกิดข้อสงสัยให้ทำการสอบถามก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงาน
2. ปรับปรุงแก้ไข หรือรายงานสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย
3. ต้องช่วยกันรักษาความสะอาด และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
4. ใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ให้ถูกต้องและปลอดภัย
5. รายงานการบาดเจ็บและการปฐมพยาบาล
6. การใช้ การปรับแต่ง ตลอดจน การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจ และมีหน้าที่เฉพาะเท่านั้น
7. ใช้ข้อกำหนดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่าง ๆ เช่น การสวมชุดเสื้อผ้าความปลอดภัย และควรเก็บไว้ในที่ ๆ เหมาะสมให้เรียบร้อย
8. ห้ามหยอกล้อ หรือเล่นกัน และหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้อื่นวอกแวก จนเสียสมาธิในการทำงาน
9. การยกสิ่งของต่าง ๆ ควรงอเข่า และถ้าเป็นของหนัก ควรช่วยกันยกหลาย ๆ คน
10. ยอมปฏิบัติตาม กฎ หรือสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2528) ซึ่งยังมีผลในทางการบังคับใช้ โดยมีความย่อและที่สำคัญ ๆ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้หม้อไอน้ำ และหม้อต้ม ฯ ดังนี้ คือ
1. ต้องมีลิ้นนิรภัยอย่างน้อย 1 ชุด และหากหม้อไอน้ำที่มีพื้นที่ผิวรับความร้อนตั้งแต่ 50 ต.ร.ม.ขึ้นไป จะต้องมีลิ้นนิรภัย 2 ชุด
2. ต้องมีหลอดแก้ววัดระดับน้ำในหม้อไอน้ำ
3. ต้องมีเกจสำหรับวัดความดันไอน้ำ
4. ต้องมีเครื่องสูบน้ำเข้าหม้อไอน้ำ โดยมีความสามารถอัดน้ำได้ถึง 1.5 เท่าของความดันใช้งานสูงสุดของหม้อไอน้ำ
5. ต้องติดตั้งลิ้นกันกลับที่ท่อที่น้ำเข้าหม้อไอน้ำ
6. หากมีการใช้หม้อไอน้ำทั้ง 2 เครื่องขึ้นไป และต่อท่อรวมกัน จะต้องมีลิ้นกันกลับที่ท่อจ่ายไอน้ำของแต่ละเครื่อง
7. ต้องมีลิ้นจ่ายไอน้ำที่ตัวหม้อไอน้ำ
8. ถ้าหม้อน้ำใช้เชื้อเพลิงเหลว ต้องติดตั้งเครื่องควบคุมความดัน และเครื่องควบคุมระดับน้ำในหม้อไอน้ำ
9. ต้องติดตั้งสัญญาณเตือนระดับน้ำในหม้อไอน้ำ ถ้าต่ำกว่าระดับใช้งานปกติ
10. ต้องหุ้มฉนวนท่อจ่ายไอน้ำ
11. ท่อน้ำ, ท่อจ่ายไอน้ำ และลิ้นปิด-เปิด รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับหม้อไอน้ำ
12. ถ้าหม้อไอน้ำสูงกว่า 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีบันไดขึ้น-ลงบนหม้อไอน้ำ
13. หม้อไอน้ำ หรือหม้อต้มน้ำมัน ฯ ต้องได้รับการตรวจรับรองความปลอดภัยในการใช้งาน โดยวิศวกรเครื่องกลระดับสามัญขึ้นไป หรือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตพิเศษตาม พ.ร.บ. วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 แล้วส่งเอกสารดังกล่าว ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ วันทำการตรวจทดสอบ
14. ต้องมีผู้คอยควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้ม ฯ ที่มีคุณวุฒิ ปวส. ช่างยนต์, ช่างกลโรงงาน หรือผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ หรือหม้อต้ม ฯ จากหน่วยงานราชการ หรือสถาบันที่กระทรวงอุตสาหกรรมรับรอง
15. ต้องมีวิศวกรเครื่องกลระดับสามัญขึ้นไปคอยควบคุมดูแล การสร้าง และการซ่อมหม้อไอน้ำ หรือหม้อต้ม ฯ ตลอดจนการตรวจทดสอบความปลอดภัยในการใช้หม้อน้ำ หรือหม้อต้ม ฯ และต้องมีวิศวกรเครื่องกลคอยอำนวยการใช้หม้อไอน้ำที่มีอัตราการผลิตไอน้ำตั้งแต่ 20 ตัน/ช.ม.ขึ้นไป โดยขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
1. ถังรับน้ำยาแอมโมเนียความดันสูง ความดันต่ำ อินเตอร์คูลเลอร์ หรือถังแลกเปลี่ยนความร้อน ต้องติดตั้งลิ้นนิรภัย
แบบคู่ (Dual Safety Relieve Valve) หรือวาล์ว 3 ทาง
2. ต้องต่อท่อก๊าซจากลิ้นนิรภัยทุกตัวไปลงบ่อกัดด้วยน้ำ
3. ต้องติดตั้งลิ้นกันกลับภายในทั้งด้านบนและด้านล่างของหลอดแก้ว เพื่อดูระดับน้ำยาแอมโมเนีย
4. ติดตั้งลิ้นกันกลับที่ท่อเติมน้ำยาแอมโมเนีย
5. ต้องติดตั้งก๊อกน้ำสะอาด สำหรับทำความสะอาดส่วนของร่างกาย ในกรณีที่มีการสัมผัสกับก๊าซแอมโมเนียแบบมือกด ไว้ในห้องเครื่อง
6. ต้องมีหน้ากาก หรือวิธีการป้องกันแอมโมเนียให้แก่ผู้ควบคุมเครื่องทำความเย็น เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
7. ต้องมีวาล์วปล่อยปิด (Loaded Valve) ที่ท่อต่าง ๆ น้ำมันหล่อลื่นทุกตัว
1. อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรมีการต่อสายลงดิน
2. ต้องมีสวิตซ์ตัดตอนไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
3. ต้องมีฟิวส์ป้องกันการใช้กระแสไฟฟ้าเกิน และห้ามใช้ลวดทองแดงแทนฟิวล์ตะกั่ว
4. เต้าเสียบไม่ควรมีการต่อออกไปใช้งานมากเกินขนาด
5. สายไฟฟ้าที่ต่อจากเตาเสียบไปใช้งานอื่น ๆ ควรต้องตรวจสอบ การถลอก การชำรุดของสายไฟฟ้าเป็นประจำ
6. ควรมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าจากผู้เชี่ยวชาญ หรือวิศวกรไฟฟ้าเป็นประจำ
การป้องกันอุบัติเหตุหรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีวิธีที่ใช้ได้ผล และทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ได้นำหลักการดังกล่าวนี้มาใช้อยู่เป็นประจำ นั่นคือ หลัก 3 E มีดังนี้ คือ
1. Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) เป็นเรื่องของการออกแบบ การคำนวณ เครื่องจักร ครื่องมืออุปกรณ์ภายในโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักของวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะต้องอาศัยการออกแบบด้วยการคำนวณ เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน และวิศวกร หรือสถาปนิกทั้งหลายนั้น ก็สามารถนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การทำงานทุกอย่าง มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
2. Education (การศึกษาหรืออบรม) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การอบรม การสัมมนา เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในทุก ๆ กลุ่มเพิ่มพูนความรู้มากขึ้น รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ใกล้เคียงกัน และทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้มีหลักสูตรสำหรับผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ หรือหม้อต้ม ฯ โดยจัดร่วมกับทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หรือร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว อยู่เป็นประจำในทุก ๆ ปี โดยเชิญวิทยากรฝ่ายหม้อไอน้ำ ฯ กองความปลอดภัยโรงงาน ซึ่งในแต่ละปี ก็จะมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าวกว่า 500-600 คน และผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเหล่านี้ ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนประจำหม้อไอน้ำ หรือ หม้อต้ม ฯ ซึ่งยังผลให้การใช้งานของผู้ควบคุมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้ม ฯ ดังกล่าวมีความปลอดภัยขึ้น โดยวิศวกร หรือสถาปนิกทั้งหลายที่สามารถจะนำเรื่องราวจากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ภายในโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ได้เช่นกัน ประโยชน์ก็เพื่อให้ทุก ๆ คนในหน่วยงานได้มีความตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน และจะสามารถทำให้ทุกคนคำนึงถึงแต่คำว่า Safety First หรือ Safety Ahead ตลอดเวลาในการทำงาน
3. Enforcement (กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายบังคับใช้ เพื่อให้ทุกคนในหน่วยงานได้ปฏิบัติตาม และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัย ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามก็จะมีความผิด อย่างเช่น เรื่องของหม้อไอน้ำ หากว่าโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำในแต่ละชนิดที่มีอัตราในการผลิตไอน้ำตั่งแต่ 20 ตัน/ช.ม.ขึ้นไป จะต้องมีวิศวกรเครื่องกลคอยควบคุมดูแล เพื่ออำนวยการใช้สำหรับการซ่อม-สร้าง ตลอดจนการตรวจทดสอบความปลอดภัยในการใช้หม้อไอน้ำหรือหม้อต้ม ฯ ก็จะต้องขึ้นทะเบียนไว้กับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องด้วย
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม หรือ สถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำหรือหม้อต้ม ฯ นั้น จะต้องมีผู้คอยควบคุมดูแลประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้ม ฯ โดยผู้ควบคุมดูแลดังกล่าว จะต้องมีคุณวุฒิตามที่กำหนด และทำการขึ้นทะเบียนกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยวิศวกร หรือสถาปนิกที่ผ่านการฝึกอบรม และขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อย และกำลังจะไปทำหน้าที่ในการปฏิบัติงานดังกล่าว ก็จะสามารถกำหนดระเบียบข้อบังคับในการทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่หน่วยงานนั้น ๆ ต่อไป
ข้อมูลความรู้ทางด้านความปลอดภัยในฉบับนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้ประกอบการ และผู้ปฏิบัติงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความในข้างต้นนี้ ท่านจะสามารถนำข้อมูลความรู้ดังกล่าว ไปใช้ในทางการส่งเสริม และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอันตราย อันเนื่องมาจากการทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมของท่านได้เป็นอย่างดีจากนี้ต่อไป ด้วยการตระหนักถึงคำว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" ดังนั้นจึงขอขอบพระคุณ คุณศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้ให้ข้อมูลความรู้ดี ๆ จากศูนย์เทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มานำเสนอแก่ท่านผู้อ่านในครั้งนี้